ข้อมูลประเทศศรีลังกา

ศรีลังกา (Sri Lanka) หรือชื่อทางการว่า สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา (Democratic Socialist Republic of Sri Lanka) เป็นเกาะเล็กๆในมหาสมุทรอินเดียใกล้ชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของอนุทวีปอินเดีย และเป็นเกาะที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ “เกาะลังกา” มาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่าย “เถรวาท” ที่มั่นคงและมีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่ธรรมะ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นอย่างยิ่งประเทศหนึ่ง ในอดีตมีชื่อเรียก ได้แก่ ลงกา ลังกาทวีป สิงหลทวีป และ ซีลอน ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้ในสมัยอาณานิคมจนถึง พ.ศ. 2517 (ค.ศ.1974) และเป็นชื่อที่ยังคงใช้ในบางโอกาส ซึ่งชื่อในปัจจุบันคือ ศรีลังกา ชีวิตบนเกาะนี้ ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ ระหว่างรัฐบาล และกบฏแบ่งแยก พยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam) ซึ่งได้มีข้อตกลงหยุดยิงเมื่อต้นปี พ.ศ. 2545 (ค.ศ.2002)

ลักษณะภูมิประเทศ 
ศรีลังกาเป็นเกาะในมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากตอนใต้ของอินเดียประมาณ 80 กิโลเมตร มีรูปร่างคล้าย ลูกขนุน บ้างว่าเหมือนไข่มุก หรือหากให้ดูโรมาติกกว่า นั้นก็ว่าเหมือนหยดน้ำตา มีพื้นที่ 65,610 ตารางกิโลเมตร หรือเล็กกว่าประเทศไทยประมาณ 8 เท่า จากลักษณะ ภูมิประเทศดังกล่าว ได้มีนักจินตกวีผู้มีอารมณ์ได้เพ้อพรรณนาเอาไว้ว่า 

“ เกาะลังกาประดุจไข่มุกสุกสกาวสดใส ทอแสงอยู่ท่ามกลางคลื่นลมและแสงแดด กลางมหาสมุทรอินเดีย...ถ้าจะเปรียบอินเดียเสมือนใบหน้าของหญิงสาว เกาะลังกานั้นเล่าก็เสมือนน้ำตาหยดหนึ่งของเธอ ที่หยุดผ่านพวงแก้มลงทางปลายคาง...ฉะนั้น ”

ศรีลังกาประกอบด้วย 8 จังหวัด (provinces) ดังนี้
- จังหวัดกลาง (แคนดี)
- จังหวัดซาบารากามูวา (รัตนปุระ)
- จังหวัดตะวันตก (โคลอมโบ)
- จังหวัดตะวันตกเฉียงเหนือ (กุรุเนกะละ)
- จังหวัดตะวันออกเฉียงเหนือ (ตรินโคมะลี)
- จังหวัดใต้ (กอลล์)
- จังหวัดกลางตอนเหนือ (อนุราธปุระ)
- จังหวัดอูวา (บาดุลลา)



เมืองหลวง     
กรุงโคลัมโบ (Colombo) 

ประชากร         
20.9 ล้านคน (2550) 

เชื้อชาติ         
ชาวสิงหล ร้อยละ 74 ชาวทมิฬ ร้อยละ 18 แขกมัวร์ (มุสลิม จาก อินเดียและตะวันออกกลาง) ร้อยละ 7 และอื่น ๆ ร้อยละ 1 

ภูมิอากาศ
มีอากาศแบบเมืองร้อน ฝนตกชุกในช่วงมรสุม เนื่องจากที่ตั้งของประเทศอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรประมาณ 500 ไมล์ ทำให้มีสภาพอากาศอุ่นชื้น อุณหภูมิไม่ค่อยมี การเปลี่ยนแปลงมากนักตลอดทั้งปี อากาศค่อนข้างร้อนบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือ แต่จะเย็นในบริเวณที่สูงตอนกลางของประเทศ 

ภาษา
ภาษาสิงหล (ภาษาราชการและภาษาประจำชาติ) ภาษาทมิฬ (เป็นภาษาประจำชาติเช่นกัน) และภาษาอังกฤษใช้ ติดต่อสื่อสารทั่วไปในภาครัฐ 

ศาสนา   
ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ร้อยละ 70 ศาสนาฮินดู ร้อยละ15 ศาสนาคริสต์ ร้อยละ 8 และศาสนาอิสลาม ร้อยละ 7 

หน่วยเงินตรา
เงินรูปีศรีลังกา (Sri Lankan Rupee) อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ สหรัฐเท่ากับ ประมาณ 108 รูปีศรีลังกา หรือ 1 บาท ประมาณ 3.2 รูปีศรีลังกา 

เมืองสำคัญต่าง ๆ
แคนดี้ เป็นเมืองสำคัญทางศาสนา มีพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) เมืองอนุราธะปุระ  มีต้นพระศรีมหาโพธิ์เก่าแก่ อายุกว่า 2,300 ปี รัตนะปุระ เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงทางด้านอัญมณีของประเทศศรีลังกา 

วันสำคัญ
วันชาติ (Independence Day) วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 

การศึกษา
อัตราการรู้หนังสือโดยรวม ร้อยละ 92.3 (ปี2547) 
เพศชาย ร้อยละ 94.8 และเพศหญิง ร้อยละ 90