Culture

วัฒนธรรมพระพุทธศาสนาเข้าสู่ศรีลังกาในพุทธศตวรรษที่ 3 สมัยพระเจ้าเทวานัมปิยาติสสะ (DEVANAMPIYATISSA) ร่วมสมัยกับพระเจ้าอโศกมหาราช โดยพระเจ้าอโศกได้จัดสมณะทูตในพระพุทธศาสนา เข้าสู่ลังกาเป็นครั้งแรก ทำให้พระพุทธศาสนาได้เป็นศาสนาประจำราชอาณาจักรศรีลังกา เป็นรากฐานและวัฒนธรรมของชาวศรีลังกา เนื่องจากอิทธิพลทางศาสนา การนำดอกไม้และการแต่งกายไปวัดของคนศรีลังกา เป็นกิจกรรมหนึ่งที่เห็นกันบ่อย ๆ ชาวพุทธศรีลังกานิยมไหว้พระ และถวายพระด้วยดอกไม้

ดอกไม้ที่คนศรีลังกานิยมใช้ถวายพระคือดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม ไม่นิยมดอกไม้พลาสติก และดอกไม้นั้นส่วนใหญ่จะต้องเก็บจากต้นเท่านั้น ชาวศรีลังกายังชอบใช้ดอกไม้เป็นดอก ๆ ไม่นิยมร้อยมาลัยเหมือนเมืองไทยและอินเดีย ส่วนใหญ่จะใช้ดอกบัวสีชมพูมากที่สุด บางครั้งอาจเป็นดอกลั่นทม ดอกพุด ดอกมะลิ นอกจากนี้ศาสนายังมีส่วนช่วยระบบวรรณะได้ลดความเข้มข้นลงด้วยอิทธิพลคำสอนทางพุทธศาสนานอกจากนั้นยังมีอิทธิพลด้านอื่น ๆ อีก เช่น ชื่อของบุคคลต่าง ๆ ได้มีการนำเอาชื่อทางพุทธศาสนามาตั้งเป็นชื่อของบุคคล นับตั้งแต่กษัตริย์ ราชวงศ์ จนถึงประชาชนทั่วไป เช่น พระเจ้าพุทธทาสะ พระเจ้าสังฆติสสะ พระเจ้าโมคคัลลานะ พระเจ้ากัสปะ พระเจ้ามหินทะ เป็นต้น

จะปรากฏเห็นว่ามีชื่อของบุคคลสำคัญทางพุทธศาสนา ปรากฏเป็นพระนามของกษัตริย์ลังกาหลายพระองค์ มีการกำหนดเอาวันธรรมสวนะเป็นวันหยุดราชการ งานทุกชนิดต้องหยุดในวันพระ เมื่อถึงวันพระชาวสิงหลจะถืออุโบสถศีล และประกอบศาสนกิจต่าง ๆ พระเจ้าแผ่นดินได้ออกกฎหมาย "มาฆาตะ" คือห้ามฆ่าสัตว์และเบียดเบียนชีวิตสัตว์ จนอาชีพนายพรานได้หายไปนอกจากนั้นรัฐบาลศรีลังกาได้ถือเอาพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ จะเห็นได้ว่าศาสนาพุทธมีความสำคัญและส่งผลต่อวัฒนธรรม การดำเนินวิถีชีวิตของชาวศรีลังกาเป็นอย่างมาก 

ศรีลังกา วัฒนธรรมพุทธแห่งเอเชียใต้


ห่างหายไม่ได้อัพเดทนานพอสมควร เนื่องด้วยฤดูแห่งการเดินทางได้สิ้นสุดลงแล้ว และผมเองก็ต้องเก็บข้าวเก็บของ เตรียมเนื้อเตรียมตัว และเตรียมใจ เดินทางไกลเพื่อไปทำงานในกาฬทวีปอันน่าทึ่ง อย่างที่ผมเคยบอกไว้ในกระทู้เปิดตัวว่า ได้รับมอบหมายให้ไปทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองในประเทศไกลแสนไกล (สำหรับผม) แห่งหนึ่งในทวีปแอฟริกา และตอนนี้ก็ได้เวลาอันสมควรแล้ว คงจะได้ฤกษ์ออกเดินทางเสียที เฉลยให้ทราบกันในกระทู้นี้ล่ะครับ ประเทศที่จะไปอยู่ประจำนั้น ลองทายกันดู เขาว่า เป็นสวิตซ์ของแอฟริกา เศรษฐกิจดี อากาศดีมาก เย็นสบายไร้เหงื่อมัน แต่ก็คงทำให้เหงาได้ในหลายโอกาส มีซาฟารีดีที่สุดในโลก มีชนเผ่ามาไซอันเลื่องชื่อ มีถั่วมาคาเดเมียเม็ดใหญ่เท่าหัวแม่มือฝรั่ง มีร้านอาหารป่าชื่อดัง มีสายการบินที่มีโลโกว่า Pride of Africa... พอจะนึกออกกันมั้ยครับว่า มันคือที่ใดในโลก หลายคนคงทายถูกว่า มันคือประเทศเคนยา (ไม่มีไม้เอกถูกต้องตามราชบัณฑิตท่านว่าครับ แม้หลายคนนิยมเขียนเคนย่าก็ตาม) ทายถูกแล้วรู้หรือเปล่าว่าเมืองหลวงของเขาชื่ออะไร ไว้ผมจะเฉลยให้ทราบในครั้งต่อไปนะครับ 

เพ้อเจ้อไปพักใหญ่ ขอเข้าเรื่องเมืองพุทธแห่งเอเชียใต้อย่างศรีลังกาเลยดีกว่า สังคมเมืองพุทธศรีลังกา สำหรับผม ไม่แตกต่างจากประเทศพุทธอื่นๆ เท่าใดนัก มีวัดวาอารามให้เห็นกันทั่วทุกมุมเมือง ประชาชนเคารพนับถือพระสงฆ์ในฐานะตัวแทนพระพุทธเจ้าเป็นอย่างมาก วิถีชีวิตชาวบ้านใกล้ชิดพระเจ้าอย่างแยกไม่ออก แต่ที่ผมเห็นต่างไป คือ เหตุการณ์ความไม่สงบและการรบพุ่งกันระหว่างชาวทมิฬกับชาวสิงหล ทำให้ประเทศนี้อยู่ภายใต้ภาวะความตึงเครียดและอันตรายมานานมากแล้ว แต่แม้กระนั้น ชาวบ้านก็ยังนิยมนุ่งขาวห่มขาวเข้าวัด วัดกลายเป็นที่พึ่งทางจิตใจที่สำคัญมากอย่างหนึ่งเลยทีเดียว 



สภาพตึกรามบ้านช่องคล้ายประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียหลายประเทศที่ผมเคยไปมา ความเจริญกระจุกตัวอยู่เพียงจุดใดจุดหนึ่งและจะเป็นที่ที่ร้านรวง โรงแรมต่างๆ ดำเนินธุรกิจอยู่ เป็นที่ที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินซื้อข้าวซื้อของได้อย่างสบายใจ ส่วนอื่นๆ ก็เป็นพวกบ้านเรือนชาวบ้านชาวเมืองดัดแปลงเป็นที่อยู่อาศัยบ้าง ห้างร้านบ้าง อย่างที่เห็น



แน่นอนว่า มาศรีลังกาควรเดินทางไปบูชาพระเขี้ยวแก้วที่เมืองแคนดี้ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโคลัมโบ (Colombo) เมืองหลวงไปประมาณสามชั่วโมงทางรถยนต์ แม้ผมไม่มีโอกาสได้ไปเที่ยวชมเมืองแคนดี้ในการมาทำงานครั้งนี้ แต่ก็ได้แวะสักการะพระเจดีย์สำคัญต่างๆ อยู่หลายแห่ง ช้างตัวนี้เป็นรูปปั้นช้างซึ่งถ่ายมาแล้วดูเหมือนจริงมาก อยู่ในวัดกัลยาณีซึ่งเป็นวัดที่ผู้มาเยือนนิยมไปสักการะ ภายในวัดมีทั้งพิพิธภัณฑ์และพระพุทธรูปมากมาย